เขียนเกี่ยวกับหนังจีนมาหลายตอน วันนี้ขอออกจากแนวมาเขียนถึงผู้กำกับหนังไทยบ้าง
ที่เขียนถึงเขา เพราะเห็นว่าผลงานที่เขาสร้างออกมา นอกจากจะมีความคิดสร้างสรรค์ไม่จำเจ
ไม่ยึดอยู่กับการตามกระแสตลาดแล้ว ยังเป็นหนังไทยที่มีคุณภาพ แฝงสาระ แง่คิดผ่านการบันเทิง
คุณวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ระดับนานาชาติ
เพราะหนังของเขาได้รับการยอมรับและได้รางวัลจากวงการภาพยนตร์นานาชาติหลายรางวัล
คุณวิศิษฏ์จริงจังและทุ่มเทให้กับการสร้างงานมาก จนไม่ค่อยได้พักผ่อนและดูแลตัวเอง หลังจากสร้างเรื่อง "อินทรีย์แดง" เมื่อ 5 ปีก่อน คุณวิศิษฏ์ก็หยุดสร้างหนังไประยะหนึ่ง เนื่องจากเรื่องสุขภาพ
เร็วๆ นี้ ได้ข่าวว่าคุณวิศิษฏ์ ได้เปิดตัวหนังสือนวนิยายเรื่องแรกที่เขาเขียนเอง ซึ่งเป็นแนวสืบสวนฆาตกรรมเรื่อง "รุ่นพี่" จัดพิมพ์โดยสถาพรบุ๊คส์ และมีการสร้างเป็นหนังผีวัยรุ่นชื่อเดียวกัน กำหนดเข้าฉายในวันที่ 3 ธันวาคมนี้ด้วย
แนวการสร้างหนังของเขามีความคิดใหม่ๆ ไม่เหมือนใครเสมอ จากผลงานที่ผ่านมาของเขา ทำให้หนังผีเรื่อง “รุ่นพี่” หนังเรื่องใหม่ของเขาได้รับความสนใจมากจากแฟนหนังไทยที่เคยเห็นฝีมือมาแล้ว
เมื่อพูดถึงคุณวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เราก็จะนึกถึงผลงานเด่นๆ ของเขาในวงการหนังไทยและหนังโฆษณาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “ 2499 อันธพาลครองเมือง” ( หนังดังในปี 2540) และ “นางนาก” ที่คนดูแน่นโรงทุกรอบในตอนนั้น ( ปี 2542) ผลงานกำกับการแสดงของเขาเองเรื่อง “ฟ้าทลายโจร” (หนังแนวย้อนยุคคลาสสิค) ที่ได้รับรางวัลจากงานภาพยนตร์นานาชาติที่แวนคูเวอร์ในปี 2543 กับผลงานกำกับอีกเรื่อง คือ “หมานคร” (สร้างปี 2543 ) หนังแนวสะท้อนสังคมเมืองที่ได้รับรางวัลหลายรางวัล
ส่วนในด้านผลงานโฆษณาเด่นๆ ของเขา ที่ผู้เขียนเห็นว่ามีแนวคิดและวิธีการสื่อที่ “ดีเยี่ยม” ก็มีจำนวนมาก แต่ละชุดก็มีไอเดียสร้างสรรค์และดึงดูดความสนใจของคนดู จนเป็นที่ติดหูติดตาติดปาก
เท่าที่เหล่าซือจำได้ก็เช่น โฆษณาของห้างเซ็นทรัล ชุด “อาม่าอยากไปเซ็นทรัล” โฆษณาของเอ็มเคสุกี้ ชุด “ผักเดินได้” ชุด “กินอะไร ไปกินเอ็มเค” (ใช้ทำนองเพลงของ “มองอะไร” ) และโฆษณาธนาคารกรุงไทย ชุด “เงินกำลังจะหมุนไป” (2552) ฯลฯ
ซึ่งแต่ละเรื่อง คุณวิศิษฏ์จะเป็นคนคิดเอง คัดเลือกตัวแสดงเอง ตัดต่อเอง บางเรื่องจะออกแนวย้อนยุคผสมผสานกับแนวสนุกสนาน
คุณวิศิษฏ์ จบคณะมัณฑนศิลป์ รั้วศิลปากร เป็นคนมีความสามารถและพรสวรรค์ในการวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ชอบอ่านหนังสือนวนิยายแนวสืบสวนมาตั้งแต่เด็กเช่นกัน คู่ชีวิตที่คอยดูแล เคียงข้าง และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตการงานเขาคือ คุณศิริพรรณ เตชจินดาวงศ์ ( นักเขียนนวนิยาย เจ้าของนามปากกา “คอยนุช” จบคณะวารสารฯ รั้วธรรมศาสตร์ )
คุณวิศิษฏ์และคุณศิริพรรณเริ่มทำงานโฆษณาในตำแหน่งครีเอทีฟ และผ่านการทำงานในบริษัทโฆษณาดังๆ หลายบริษัท
"รุ่นพี่" น่าจะเป็นหนังอีกเรื่องของคุณวิศิษฏ์ ที่จะคว้ารางวัลมาให้กับวงการหนังไทย
ขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ สถาพรบุ๊คส์
............................
ตัวอย่างหนัง "รุ่นพี่" ในยูทูป
หนังไทยที่กำกับโดยคุณวิศิษฏ์ ได้มีโอกาสไปสู่เวทีหนังนานชาติ และได้รับรางวัล อาทิ
(ส่วนนี้อ้างอิงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/วิศิษฏ์_ศาสนเที่ยง)
ภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าทลายโจร
* ได้รับรางวัล Dragons & Tigers award for young cinema จาก Vancouver Film Festival, Canada ในปี ค.ศ. 2000 (2543)
* เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับการคัดเลือกเข้าชิงเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองคานส์ปี ค.ศ. 2009 อย่างเป็นทางการในสายอันเซอร์เทิล รีการ์ต (Un Certain Regards) หรือ ภาพยนตร์ที่น่าจับตามอง
ภาพยนตร์เรื่อง หมานคร
ได้รับรางวัล สุพรรณหงศ์ ปี ค.ศ. 2004 (2549) สาขาการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม
ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศในปี ค.ศ. 2004 อีกหลายประทศ เช่น
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโลคาโน (58th Locarno International Film Festival) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
เทศกาลโตรอลโต อินเตอร์เนชั่น ฟิล์ม เฟสติวัล (Toronto International Film Festival)
งานดรากอล แอนด์ ไทเกอร์ ซีรีส์ (Dragons & Tigers Series) ในเทศกาลแวนคูเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์ม เฟสติวัล (Vancouver International Film Festival)
ได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์แฟนตาเซีย (FANTASIA : NORTH AMERICA’S PREMIER GENRE FILM FESTIVAL) ที่ Montreal ประเทศแคนาดา ครั้งที่ 10
คว้ารางวัล2 รางวัลมหาชน Best Asian Film (Bronze Prize) และ Most Groundbreaking Film (Silver Prize)
ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 10 ของหนังที่ดีที่สุดในโลกปี ค.ศ. 2004 จากนิตยสาร ไทม์แมกกาซีน
ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาภาพยนตร์ ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2549 จัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
เป็นรางวัลจัดขึ้นเพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริม ยกย่อง เชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยให้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น